เทศบาลตำบลห้วยสัก

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

         เทศบาลตำบลห้วยสัก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองเชียงราย อาคารที่ทำการตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงราย เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร ณ อาคารเลขที่ 374 ถนนเชียงราย - เทิง บ้านโป่งฮึ้ง หมู่ที่ 1 ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 108.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 67,993.75 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบเชิงเขา

 

อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง

ทิศเหนือ    ติดต่อกับ ทต.สิริเวียงชัย , ทต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย


ทิศใต้    ติดต่อกับ ทต.ดอยลาน อ.เมืองเชียงราย และอบต.แม่อ้อ ทต.สันมะเค็ด อ.พาน


ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย และ ทต.ดอยลาน อ. เมืองเชียงราย


ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ ทต.ท่าสาย ทต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย1.๒ ลักษณะภูมิอากาศ


ฤดูร้อน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35.4 องศาเซลเซียส


ฤดูฝน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม มีฝนตกทั้งปี 145 วัน ปริมาณฝน รวมตลอดทั้งปี 2,042.6 มิลลิเมตร


ฤดูหนาว อยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 15.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10.2 องศาเซลเซียส

 

การเมือง/การปกครอง

เทศบาลตำบลห้วยสัก มีจำนวนหมู่บ้านในเขต จำนวน 31 หมู่บ้าน ได้แก่
หมู่ที่ 1    บ้านโป่งฮึ้ง       
หมู่ที่ 2    บ้านโป่งฮึ้ง       
หมู่ที่ 3    บ้านทุ่งป่ายาง   
หมู่ที่ 4    บ้านป่าก๊อ       
หมู่ที่ 5    บ้านห้วยสัก       
หมู่ที่ 6    บ้านป่าแหย่ง   
หมู่ที่ 7    บ้านร่องปลาขาว   
หมู่ที่ 8    บ้านร่องเผียว   
หมู่ที่ 9    บ้านร่องเบ้อ           
หมู่ที่ 10    บ้านดงป่าเหมี้ยง   
หมู่ที่ 11     บ้านหัวดง           
หมู่ที่ 12    บ้านร่องเบ้อนอก        
หมู่ที่ 13    บ้านสันป่าเหียง    
หมู่ที่ 14    บ้านสันต้นเปา    
หมู่ที่ 15    บ้านสันสลี       
หมู่ที่ 16    บ้านโป่งขาม
หมู่ที่ 17    บ้านสันโค้งใหม่
หมู่ที่ 18    บ้านร่องเผียว
หมู่ที่ 19    บ้านร่องเบ้อ
หมู่ที่ 20    บ้านใหม่นาวา
หมู่ที่ 21    บ้านดอนชุม
หมู่ที่ 22    บ้านป่าก๊อ
หมู่ที่ 23    บ้านร่องปลาขาว
หมู่ที่ 24    บ้านร่องเผียว
หมู่ที่ 25    บ้านใหม่สันป่าเหียง
หมู่ที่ 26    บ้านโป่งฮึ้ง
หมู่ที่ 27    บ้านห้วยสักใหม่
หมู่ที่ 28    บ้านใหม่สันต้นเปา
หมู่ที่ 29    บ้านร่องเบ้อ
หมู่ที่ 30    บ้านป่าก๊อ

หมู่ที่ 31    บ้านเนินสะดวก

รากเหง้าของชาวตำบลห้วยสัก :

บรรพบุรุษของชาวตำบลห้วยสักในยุคแรกๆ นั้น อพยพกันมาจากเชียงใหม่ แล้วมาตั้งรกรากอยู่กันที่บ้านโป่งฮึ้ง [บ้านห้วยพญาเก๊า], บ้านทุ่งป่ายาง, บ้านป่าก๊อ และบ้านห้วยสัก ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ ๓ ราวปี พ.ศ.๒๓๙๔ (จุลศักราช ๑๒๑๓ / รัตนโกสินทร์ศก ๗๐) เป็นต้นมา หรือเมื่อราว ๑๖๐ กว่าปีที่แล้ว

ภาพแรก : พ่อหลวงหมวก เเม่คำเเปง มะโนวรรณ ต้นตระกูล มะโนวรรณ

ภาพที่สอง : เเม่อุ้ยหม่อนเป็ง ดาวตาก

ภาพที่สาม : พ่อนายต๋า เเม่นายบัวเต้บ [บัวเทพ] มะโนวรรณ ต้นตระกูล "มะโนวรรณ" เป็น "พ่ออุ้ย + แม่อุ้ย" หรือปู่ย่าของ "พ่ออุ้ยเสาร์ มะโนวรรณ" [ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่] บ้านป่าก๊อ ตำบลห้วยสัก

แลหลังชุมชนตำบลห้วยสัก :

ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ราวปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ (จุลศักราช ๑๒๑๓ / รัตนโกสินทร์ศก ๗๐) ได้มีพ่อค้าวัวต่างกลุ่มหนึ่งนำเอาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จากเมืองเชียงใหม่ มาซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เชียงราย (ซึ่งมากันเป็นประจำทุกๆ ปีในช่วงฤดูแล้ง) โดยใช้เส้นทางเดินเท้าผ่านมาทางอำเภอฝาง – อำเภอเวียงป่าเป้า - อำเภอแม่สรวย และเข้าสู่เมืองเชียงราย ในระหว่างที่จะเดินทางเพื่อไปค้าขายต่อยังเมืองเทิง (อำเภอเทิงปัจจุบัน) นั้น ได้พิจารณาเห็นว่าชัยภูมิสองข้างทางที่ตนเดินทางผ่านนั้นเป็นที่ราบลุ่ม มีดินดำน้ำชุ่ม อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมเป็นยิ่งนัก เพราะมีห้วยระหานธารใสไหลผ่านตลอดทั้งปี จึงได้พากันตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองกันขึ้นเป็นชุมชนเล็กๆ ริมลำน้ำ โดยตั้งชื่อว่า “บ้านห้วยพญาเก๊า” และชักชวนเอาญาติพี่น้องจากเชียงใหม่มาอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ต่อมาเมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการว่า “บ้านโป่งฮึ้ง” (เนื่องจากในบริเวณนั้นเป็นดินโป่ง ที่สัตว์ป่าและฝูงนกชอบบินลงมากินดินโป่งอยู่เป็นประจำ เวลามีผู้คนเดินผ่านฝูงนกจะแตกฮือเสียงดัง “ฮึ้ง” ด้วยความตกใจ ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “โป่งฮึ้ง” ตามเสียงฝูงนกบิน)

ในเวลาต่อมาได้มีการขยายหมู่บ้านออกไปตามทำเลที่ตั้ง เช่น บ้านทุ่งป่ายาง, บ้านป่าก๊อ บ้านห้วยสัก และบ้านดอน เป็นต้น (บ้านดอนศิลา-ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอเวียงชัย) เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากเชียงใหม่ ต่างนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง จึงได้นำเอาขนบทำเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ ที่ตนนับถือมายึดถือปฏิบัติด้วย ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างวัดวาอารามตามหมู่บ้านต่างๆ ไว้เป็นที่ทำบุญและประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อถือศรัทธาของตน อาทิ วัดเขาแก้วดับภัย [บ้านโป่งฮึ้ง], วัดศรีพิงค์ชัยดับโศก [บ้านทุ่งป่ายาง], วัดเกษมสุขสำราญ [บ้านร้องหวาย] แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมมาอยู่จำพรรษาในช่วงแรกเริ่ม

ลุถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ (จุลศักราช ๑๒๕๔/ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการจัดการปกครองแบบสมัยใหม่ทั่วทั้งประเทศ ในส่วนภูมิภาคนั้นได้แบ่งเขตการปกครองส่วนออกเป็น เมือง (จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามลำดับ

ในครั้งนั้นทางราชการได้ยกฐานะหมู่บ้านโป่งฮึ้งขึ้นเป็นตำบล เรียกว่า “ตำบลโป่งฮึ้ง” มีผู้ดำรงตำแหน่งพ่อแคว่นหรือกำนันปกครองตามลำดับ ดังนี้
๑. พระยาเทพพนม
๒. พระยาเทพ
๓. นายเครื่อง สุภารัตน์

ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ (จุลศักราช ๑๒๕๙ / รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖) ทางราชการพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านห้วยสักเป็นชุมชนหนาแน่น กอปรกับมีการคมนาคมสะดวกกว่า และง่ายต่อการติดต่อ จึงได้ย้ายตำบลโป่งฮึ้งมาไว้ที่บ้านห้วยสัก และเปลี่ยนชื่อจากตำบลโป่งฮึ้งมาเป็น “ตำบลห้วยสัก” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมานับแต่นั้น

ตำบลห้วยสักในอดีตนั้นมีพื้นที่กว้างขวางมาก ปัจจุบันแยกออกเป็น ๔ ตำบล คือ ตำบลห้วยสัก, ตำบลดอยลาน [อำเภอเมืองเชียงราย] และตำบลดอนศิลา, ตำบลผางาม ซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอเวียงชัย โดยมีการแต่งตั้งกำนันปกครองชุมชนตำบลห้วยสักมาตามลำดับ ดังนี้

๑.กำนันจุมปู บัวไข
๒.กำนันอุด
๓.กำนันเตจ๊ะ
๔.กำนันอิ่นคำ สุวรรณประภา 
๕.กำนันสุธรรม วงค์ชัย
๖.กำนันสุภา กายาไชย
๗.กำนันมา อาษา
๘.กำนันเอี้ยง กายาไชย
๙.กำนันกอบแก้ว ทองซิว
๑๐.กำนันประเสริฐ กายาไชย
๑๑.กำนันชาญชัย มะโนวรรณ
๑๒.กำนันสมิง ปินใจ
๑๓.กำนันกิ่งทอง สีธิวงค์

ปัจจุบันตำบลห้วยสัก ประกอบด้วยหมู่บ้าน ๓๐ หมู่บ้าน นับเป็นตำบลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้รับการยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบลห้วยสัก ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พระมหาอมรวิชญ์ ชาครเมธี : ผู้เรียบเรียง




         

© 2016 เทศบาลตำบลห้วยสัก
สำนักงานเทศบาลตำบลห้วยสัก เลขที่ 374 ถนนเชียงราย - เทิง หมู่ที่ 1 ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทรศัพท์ 053-678382 โทรสาร 053-678382 ต่อ 16 E-mail saraban@huaisak.go.th    Best resolution 1024 * 786 or higher   Administrator